Categories
Uncategorized

ดูให้ออก! HIV SELF-TEST คือ?

แม้จะถูกพูดถึงมานานแล้ว สำหรับ HIV SELF-TEST หรือชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง แต่บัดดี้ เชื่อว่าหลายคนยังนึกไม่ออก เลยจะมาย้ำให้ทุกคนรู้จักกับ HIV SELF-TEST มากขึ้น ซึ่งเจ้าที่ตรวจนี้ รูปลักษณ์ภายนอกก็จะเหมือนกับชุดตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 ที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่ง HIV SELF-TEST ปัจจุบันมี 2 ยี่ห้อนี้เท่านั้นนะจ๊ะ ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว คือ

  1. อินสติ เอชไอวี เซลฟ์ เทส (INSTI HIV Self-Test) ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี จากการเจาะเลือดปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที
  2. ออรัลควิก เอชไอวี เซลฟ์เทส (OraQuick HIV Self-Test) ตรวจจากสารน้ำในช่องปาก อ่านผลได้ใน 20 นาที แต่ต้องไม่เกิน 40 นาที ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง ตรวจได้ทุกเพศ หรือจะเรียกว่า ตรวจได้ทุกคนเลยก็ว่าได้

การเลือกชุดตรวจ ควรเลือกที่ผ่านการจดทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น
เพราะได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข  ดูได้ที่ http://ttp.dmsc.moph.go.th/ttp/th/main_th.php

Categories
การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง

ใช้ให้เป๊ะ!! ไม่มีโป๊ะ! วิธีอ่านผลตรวจ HIV Self-Test

ชุดตรวจนี้ สามารถตรวจได้ทุกคนเลยนะ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ยิ่งต้องตรวจ อย่าง 5 กลุ่มหลัก ทั้งกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์ชาย, กลุ่มหญิงข้ามเพศ, กลุ่มพนักงานบริการ, ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น,และประชาชนทั่วไป แต่จะมีแบบไหนบ้าง และอ่านผลตรวจอย่างไร มีเฉลยให้จ้า

อินสติ เอชไอวี เซลฟ์ เทส (INSTI HIV Self-Test) เจาะเลือดปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที โดยมีวิธีอ่านผล ดังนี้

1.1 กรณีผลเป็นบวก: ชุดตรวจจะแสดงผลทั้ง 2 จุดอย่างชัดเจน หรือ บางกรณีจุดที่ใกล้กับตัว C อาจชัดกว่าจุดถัดไป มีโอกาสสูงที่เราอาจจะมีเชื้อเอชไอวี

1.2 กรณีผลเป็นลบ: ชุดตรวจจะแสดงผลเฉพาะจุดด้านบนเท่านั้น (จุดใกล้เคียงกับตัว C) นั่นคือเราไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่เราจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ชุดตรวจมีโอกาสที่จะตรวจไม่พบ หากมีเชื้อเอชไอวีในระยะฟักตัว หรือช่วง 2 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือน ดังนั้น ควรเว้นระยะการตรวจซ้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่พบเชื้อจริง รวมถึงหมั่นสังเกตอาการของตัวเองด้วย

1.3 กรณีไม่สามารถอ่านผลได้: ชุดตรวจจะไม่แสดงผลใด ๆ ให้เห็น หรือ แสดงเพียงจุดด้านล่างเท่านั้น
ซึ่งหมายถึงมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จากตัวชุดตรวจ หรือในช่วงการทดสอบ ต้องทำการทดสอบซ้ำด้วยชุดตรวจอันใหม่ ต้องทำการทดสอบซ้ำด้วยชุดตรวจอันใหม่

Categories
การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง

รู้รึยังตรวจ HIV เองได้น้า อย่าตกข่าว แถมรู้ผลเร็วภายใน 1 นาที

หลายคนเข้าใจว่า การตรวจ HIV มีความยุ่งยาก ทำให้ไม่กล้ามาตรวจกัน แต่จริงๆ แล้ว การตรวจ HIV นั้นง่ายมาก ๆ เพียงแค่เจาะเลือด แถมยังรู้ผลรวดเร็วอีกต่างหาก ซึ่งการตรวจเอชไอวีก็เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่จะรับบริการฟรีถึงปีละ 2 ครั้ง  แต่หากยังไม่พร้อมไปหน่วยบริการ เราก็มีการตรวจแบบง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เราเรียกว่า การใช้ “ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง” หรือ HIV Self–Test  โดยปี 2564 ที่ผ่านมา มีชุดทดสอบผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานจาก อย.แล้ว 2 ชนิด คือ

  1. อินสติ เอชไอวี เซลฟ์ เทส (INSTI HIV Self-Test) ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี จากการเจาะเลือดปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที
  2. ออรัลควิก เอชไอวี เซลฟ์เทส (OraQuick HIV Self-Test) ตรวจโดยการใช้น้ำในช่องปาก อ่านผลได้ใน 20 นาที แต่ต้องไม่เกิน 40 นาที

ทั้งสองชนิด วางขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วประเทศแล้วนะครับ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปเจอคนเยอะ ๆ ที่สถานพยาบาลได้

ชุดทดสอบนี้ จึงเป็นทางเลือกที่จะทำให้เรานำไปใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้น เพื่อจะได้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเองได้เร็ว เพื่อนำไปสู่การตรวจยืนยันและเข้าสู่ระบบดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีในสถานบริการสุขภาพได้อย่างรวดเร็วตามสิทธิการรักษา ลดเชื้อไวรัสในกระแสเลือดร่างกายดีแข็งแรง ไม่ถ่ายทอดเชื้อสู่คนอื่นการรักษาในทุกวันนี้ พัฒนาไปมาก มีการปรับสูตรยาให้กินง่ายขึ้น ทั้งขนาดและจำนวนลดลง และลดอาการแทรกซ้อน หรือผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย ทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเหมือนคนปกติ

Categories
Uncategorized

ช่องทางติดต่อขอรับบริการ

หากคุณ อายุ 12 ปีขึ้นไปและต้องการปรึกษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี  ไม่แน่ใจว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ต้องการตรวจคัดกรอง มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ และมีจิตอาสาช่วยเพื่อนให้ปลอดภัยจากไวรัสเอชไอวี  โครงการไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งมีความเป็นส่วนตัว ข้อมูลของผู้มารับบริการจะถูกเก็บเป็นความลับ พร้อมทั้งรับคำแนะนำหลังจากทราบผลตรวจ

นอกจากนี้ ยังมีถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นแจกฟรี!! อย่าลืม บอกต่อโครงการดีๆกับเพื่อนๆหรือคนรู้ใจให้เข้ามารับบริการ

สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ official line: stand by you หรือ เว็บไซต์ standbyyou.info

Categories
Uncategorized

การป้องกันไวรัสเอชไอวี

ถุงยางอนามัย และวิธีการใช้ถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยในปัจจุบันทำมาจากยางธรรมชาติ (Latex) ที่ได้ผ่านการทดสอบและตรวจสอบแล้วว่ามีความปลอดภัย ไม่มีรูรั่ว และมีความทนทานตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยาทั่วไป หรือสามารถรับฟรีที่สถานพยาบาลต่าง ๆ การใช้ถุงยางอนามัยควรใช้ก่อนที่อวัยวะเพศทั้งสองฝ่ายจะสัมผัสกัน

 

การกินยาก่อนเสี่ยง (pre-exposure prophylaxis)

มีวิธีปฏิบัติโดยสรุปคือ

  • การใช้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสเอชไอวี (เพร็พ) ต้องรู้ผลเลือดก่อนว่าไม่มีเชื้อเอชไอวี
  • ติดต่อขอรับยาได้ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วไป
  • การป้องกันได้ดีเพศชายควรกินยา 4 วันก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพศหญิงควรกินยา 6 วันก่อนมีเพศสัมพันธ์ ประสิทธิภาพของยาจึงจะส่งผลป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การกินยาหลังเสี่ยง (post-exposure prophylaxis)

มีวิธีปฏิบัติโดยสรุปคือ

  • การใช้ยาป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อไวรัสเอชไอวี (เป๊ป) ต้องกินป้องกันหลังมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี ภายใน 72 ชั่วโมง
  • ติดต่อขอรับการตรวจเลือดและยาได้ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วไป
  • ป้องกันได้ดีต้องกินยาหลังเสี่ยง ภายใน 3 วัน เป็นเวลา 28 วัน จากนั้นตรวจเลือดยืนยันผล

การขลิบ (Circumcision)

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย มีส่วนช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีลง ซึ่งเคยมีรายงานการวิจัยออกมาว่าหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายที่หนาจะเป็นที่สะสมของเชื้อโรค เมื่อขลิบออกจะทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาด แต่อย่างไรก็ต้องทำควบคู่ไปกับวิธีป้องกันอื่น ๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U=U, Undetectable = Untransmissible)

นั่นคือการกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันไม่ใช้เชื้อถูกส่งต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น (HIV treatment as prevention) นั่นคือ  คนที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีต้องกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ต้องตรวจวัดปริมาณไวรัสในเลือดเป็นประจำ ถ้าน้อยกว่า 200 copies ต่อซีซีของเลือด ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนและไม่ทำให้คู่นอนติดเชื้อไวรัสเอชไอวีไปด้วย

Categories
การป้องกันไวรัสเอชไอวี ท้อง

ถุงยางอนามัย และวิธีการใช้ถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยในปัจจุบันทำมาจากยางธรรมชาติ (Latex) ที่ได้ผ่านการทดสอบและตรวจสอบแล้วว่ามีความปลอดภัย ไม่มีรูรั่ว และมีความทนทานตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยาทั่วไป หรือสามารถรับฟรีที่สถานพยาบาลต่าง ๆ การใช้ถุงยางอนามัยควรใช้ก่อนที่อวัยวะเพศทั้งสองฝ่ายจะสัมผัสกัน

ประโยชน์ของถุงยางอนามัยมีดังนี้
  • คุมกำเนิด
    ถุงยางอนามัยป้องกันไม่ให้อสุจิเล็ดลอดเข้าไปในบริเวณช่องคลอดได้ ดังนั้นควรสวมถุงยางตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ และสังเกตให้ดีว่าถุงยางอนามัยที่สวมชำรุดหรือไม่
  • ป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
    ถุงยางอนามัยช่วยลดโอกาสการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เช่น โรคเอดส์ กามโรค หนองใน ซิฟิลิส เป็นต้น เพราะการรติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกันโดยตรงของสารคัดหลั่งและอวัยวะเพศ ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสได้ง่าย
  • ลดการบาดเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์
    ถุงยางอนามัยมีส่วนผสมของสารหล่อลื่นในปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อใช้ขณะมีเพศสัมพันธ์จะทำให้ลดโอกาสบาดเจ็บของอีกฝ่ายได้ ทั้งนี้ถุงยางอนามัยสามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นได้อีกด้วย
  • ช่วยเพิ่มอรรถรสทางเพศได้
    ในปัจจุบันมีถุงยางอนามัยให้เลือกใช้หลายรูปแบบ ทั้งผิวเรียบ ผิวไม่เรียบ ผิวขรุขระ มีสี มีกลิ่น ให้เลือกใช้งานได้ตามรสนิยมของผู้ใช้งาน จึงทำให้ช่วยเพิ่มอรรถรสในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้
ขั้นตอนการใส่ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี
  1. ฉีกซองถุงยางอนามัยออกมาแล้วเลือกด้านที่มีกระเปาะไว้ด้านนอก ใช้นิ้วมืออีกข้างบีบบริเวณหัวของถุงยางอนามัยเพื่อไล่อากาศ
  2. สวมถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่ แล้วรูดถุงยางอนามัยลงมาจนสุด เพื่อป้องกันการหลุดออกในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  3. ก่อนสอดใส่ตรวจดูให้แน่ใจว่าปลายถุงยางไม่มีรอยรั่วหรือแตกออก บริเวณขอบไม่มีรอยฉีกขาด
  4. เมื่อเสร็จกิจแล้วควรถอดถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัวอยู่ เโดยใช้มือดึงออกจากส่วนโคนก่อนอย่างระมัดระวัง และอาจจะใช้กระดาษชำระห่อก่อนนำไปทิ้ง
  5. ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ต่อในยกต่อไปควรเปลี่ยนใช้ถุงยางอันใหม่ เพื่อประสิทธิภาพของการป้องกันเชื้อโรค
ข้อควรรู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย
  • ขนาดของถุงยางอนามัย
    ปัจจุบันถุงยางอนามัยจะมีจำหน่ายหลายขนาด ทั้ง 49 52 52.5 53 54 และ 56 มิลลิเมตร ขนาดตรงนี้จะหมายถึงรอบวงของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัวเต็มที่และนำไปหารด้วย 2 จะได้เป็นขนาดของถุงยางอนามัยที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
  • สารหล่อลื่น
    การใช้สารหล่อลื่นอื่นๆ เช่น น้ำมันมะพร้าว โลชั่น เบบี้ออยส์ วาสลีน สบู่เหลว ที่ไม่ใช่เจลหล่อลื่นจะทำให้ถุงยางอนามัยเกิดการฉีกขาดได้ง่ายในขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการใช้ถุงยางอนามัยได้ ดังนั้นควรใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของซิลิโคนเท่านั้น
  • วันหมดอายุ
    จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำถุงยางอนามัยใช้งานทุกครั้ง เนื่องจากสารหล่อลื่นที่อยู่ในซองถุงยางอนามัยนั้นอาจเสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปแล้ว เมื่อนำมาใช้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือถุงยางอนามัยชำรุดได้
  • บีบไล่อากาศที่ปลายถุงยางก่อนใส่ทุกครั้ง
    ก่อนสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งควรบีบไล่อากาศออกก่อน เพราะอากาศที่อยู่บริเวณปลายถุงยางอาจจะทำให้ถุงยางอนามัยแตกหรือฉีกขาดได้ง่าย
  • สวมถุงยางอนามัยให้ถูกด้าน
    เมื่อฉีกถุงยางอนามัยออกมาจากซองแล้ว ให้หันด้านที่มีกระเปาะตรงส่วนหัวออกด้านนอก และสวมลงบนอวัยวะเพศที่แข็งตัวอยู่ ถ้าสวมถูกด้านจะสามารถรูดถุงยางอนามัยลงได้ง่าย

สรุปแล้วการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น ควรป้องกันตัวเองและผู้อื่นด้วยการใช้ถุงยางอนามัย จะช่วยลดปัญหาที่ตามมาภายหลัง ทั้งการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยควรเริ่มจากการมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ ไม่ควรเขินอายเพราะกลัวว่าจะถูกล้อเลียนในตอนซื้อหรือตอนใช้ รวมถึงการพกถุงยางอนามัยไว้กับตัวเองตลอดเวลา ที่สำคัญคือใช้ถุงยางถูกวิธีด้วย

Categories
ความรู้เรื่องเอชไอวี/เอดส์

การดูแลตนเองในกรณีที่ติดเชื้อ

ปัจจุบันไม่สามารถแยกออกว่าใครติดหรือไม่ติดเชื้อเอชไอวีหากเจ้าตัวไม่บอกโดยตรง เพราะสุขภาพของผู้มีเชื้อดีไม่ต่างกับบุคคลทั่วไป หากเข้ารับการรักษาทันเวลาและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด การดูแลตนเองในกรณีที่อยู่ร่วมกับไวรัสเอชไอวีที่ควรทำคือ

  • กินยาตามที่แพทย์สั่งโดยเคร่งครัด กินให้ต่อเนื่อง ตรงเวลาและสม่ำเสมอ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เพราะอาหารมีส่วนช่วยเสริมสร้างการทำงานที่ดีของระบบภูมิคุ้มกัน และให้พลังงานต่อร่างกาย
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ช่วยสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจให้แข็งแรง นอกจากนี้การออกกำลังกายอาจช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญดีขึ้นอีกด้วย
  • ดูแลสุขภาพจิต หากมีคนให้บอกเล่าความรู้สึก ปรึกษาและให้คำแนะนำ จะช่วยให้สุขภาพจิตดี
  • เลิกบุหรี่ เลิกใช้สารเสพติด การใช้ยาเสพติด เพราะอาจทำให้อาการต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อเอขไอวีแย่ลงได้ และยิ่งหากมีการเสพยาโดยการฉีด อาจทำให้เชื้อไวรัสเร่งการเจริญเติบโตในร่างกายได้
  • ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ให้คู่นอนไปตรวจเลือดเพื่อจะได้วางแผนชีวิตได้ดีขึ้น
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ให้เกิดโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลง

สิ่งที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรทำถึงแม้จะไม่อยากทำ คือ ควรพิจารณาเรื่องการบอกคนที่ไว้ใจได้ เช่น ครอบครัว เพื่อน บุคคลใกล้ชิด หรือคู่นอน เพื่อที่ตนเองและคนรอบข้างจะได้เตรียมรับมือและปฏิบัติตัวตามข้อควรระวังหรือขั้นตอนต่าง ๆ  มีความเข้าใจ คอยให้กำลังใจ และลดความอึดอัด

Categories
การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง

ความหมายของผลเลือด

ผลเลือดจากการตรวจหาไวรัสเอชไอวี

ผลบวก แปลว่า พบการติดเชื้อ

ผลลบ แปลว่า ไม่พบการติดเชื้อ

แต่ในบางรายอาจจะมีผล ผลกำกวม คือผลยังไม่แน่นอน ต้องยืนยันอีกครั้งทางห้องปฏิบัติการจนกว่าจะสรุปได้ว่าบวกหรือลบ

Categories
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ อาจเรียกว่า “กามโรค” สามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่พบมากในวัยรุ่น เนื่องจากปัจจุบันวัยรุ่นส่วนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน โดยที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันตัวเอง รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ นอกจากนี้  ปัจจุบันคู่แต่งงานมีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้น ทำให้คนมีสามีหรือภรรยาหลายคน จึงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น สิ่งที่อันตรายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คือเป็นแล้วมักจะไม่เกิดอาการแต่สามารถแพร่สู่คู่นอนได้ บางคนจึงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้วโดยไม่รู้ตัว และในหญิงตั้งครรภ์สามารถติดต่อไปยังทารกในครรภ์ได้

หนองใน

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoeae ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ในท่อปัสสาวะ แสบขัดเวลาปัสสาวะ และมีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ อาจจะทำให้เกิดการอักเสบในช่องท้อง หรือ เป็นหมันหากไม่ได้รับการรักษา

หนองในเทียม

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีอาการแสบปลายท่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัดและมีหนองไหล และมีมูก ออกเล็กน้อยโดยเฉพาะในช่วงเช้า ส่วนผู้หญิงอาจมีอาการตกขาวผิดปกติ

ซิฟิลิส

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากการติดเชื้อ Treponema pallidum เป็นโรคที่มีอันตราย และมี อาการเรื้อรัง สามารถติดต่อยาวนานกว่า 2 ปี ลักษณะการติดเชื้อเริ่มแรกจะเป็นก้อนแข็ง แต่ไม่เจ็บที่บริเวณอวัยวะ เพศ หากไม่รักษาจะกลายเป็นระยะที่สองที่เรียกว่า เข้าข้อหรือออกดอก ถ้าทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดโรคแก่ระบบต่าง ๆ ของร่างกายหลายระบบ ทั้งซิฟิลิสระบบหัวใจและหลอดเลือด ซิฟิลิสระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้ มารดาที่เป็น โรคซิฟิลิสจะถ่ายทอดโรคสู่ทารกในครรภ์ได้เรียกว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด (congenital syphilis) จึงถือว่าซิฟิลิสเป็นโรคที่มีอันตราย และมีอาการเรื้อรัง สามารถติดต่อยาวนานกว่า 2 ปี

แผลริมอ่อน

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากเชื้อ Haemophilus Ducreyi ทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศ บวมและเจ็บ บางคนมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบหรือที่ชาวบ้านเรียกไข่ดันบวม หากไม่รักษาหนองจะแตกออกจากต่อมน้ำเหลือง มักมีหลายแผล ขอบแผลนุ่มและไม่เรียบ ก้นแผลสกปรกมีหนอง มีเลือดออกง่าย เวลาสัมผัสเจ็บปวดมาก บางรายต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวม และเป็นฝี เมื่อฝีแตกจะเป็นแผล

กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง

เกิดจากการติดเชื้อ Chlamydia trachomatis เข้าสู่ร่างกายทางแผลถลอกหรือเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ แล้วแพร่ผ่านท่อน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ ต่อมาเกิดเป็นฝีหลายอันล้อมรอบต่อมน้ำเหลืองนั้น หากไม่รักษาฝีจะแตกออกเป็นแผลมีหนอง และจะลุกลามทำให้ท่อและต่อมน้ำเหลืองอุดตันเกิดเป็นแผลเรื้อรังหรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น อวัยวะเพศบวม มีหนองปนเลือดไหลออกทางทวารหนัก

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ

  1. ใส่ถุงยางอนามัย หากจะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีเชื้อหรือไม่
  2. รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
  3. ไม่เปลี่ยนคู่นอน หรือยึดมั่นในการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว
  4. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังอายุน้อย เนื่องจากมีสถิติว่า ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาสติด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง
  5. ตรวจโรคเป็นประจำทุกปี เพื่อหาเชื้อโรค แม้จะไม่มีอาการใด ๆ โดยเฉพาะคู่ที่กำลังจะแต่งงาน
  6. เรียนรู้ ศึกษาอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  7. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
  8. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หากจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัย
  9. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย

วิธีปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  1. ต้องรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  2. แจ้งคู่นอนให้ทราบเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและดูแลรักษา
  3. รักษาอาการ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  4. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือการสำเร็จความใคร่เพื่อป้องกันไม่ให้อาการอักเสบลุกลาม
  5. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมาทุกชนิด
  6. ไม่ควรซื้อยารักษาเอง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
Categories
ความรู้เรื่องเอชไอวี/เอดส์

ความรู้เรื่องเอชไอวี/เอดส์

ปัจจุบันความรู้เรื่องโรคเอดส์ก้าวหน้าไปมาก มียาต้านไวรัสเอชไอวีมากกว่า 30 ชนิด มีการคิดค้นวัคซีน ยาหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเอชไอวี ถ้าผู้ป่วยมีวินัยกินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างเคร่งครัดภายใต้การดูแลของแพทย์ ทำให้มีชีวิตที่ยืนยาว ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย ไม่มีวิธีที่จะกำจัดได้ 100%  เอชไอวีเป็นไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันชนิดซีดีโฟร์ของคน เป็นสาเหตุทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถ้าไม่รีบรักษาจะทำให้ป่วยเป็นโรคเอดส์ได้   ผู้มีเชื้อเอชไอวีหลายรายไม่มีอาการ แต่แพร่เชื้อได้นานถึง 7-10 ปีจึงมีอาการป่วย แต่หากรักษาตามแพทย์แนะนำจะมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ มีอายุขัยไม่ต่างจากผู้ไม่มีเชื้อ และไม่แพร่เชื้อหากภูมิต้านทานดี ปริมาณไวรัสโหลดน้อย เอชไอวีติดต่อได้ 3 ทางเท่านั้น คือ ทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด และทางมารดาสู่ทารก มีวิธีการป้องกันดังต่อไปนี้คือ

  • เพศสัมพันธ์ ป้องกันด้วยการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อฯ หรือ กินยาเพร็พป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อฯ ในกรณีที่มีความเสี่ยง หรือหากเสี่ยงมาแล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมง มียาเป๊ปกินป้องกันหลังเสี่ยง หรือหากติดเชื้อแล้วและผู้มีเชื้อกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อถูกส่งต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
  • ทางเลือด ไม่รับเลือดที่มีเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการไม่ใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น
  • มารดาสู่ทารก หญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวีควรรีบฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ กินยาต้านไวรัสในขณะตั้งครรภ์  ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่