Categories
สุขภาพจิต

เรื่องน่ารู้ โรคซึมเศร้า

ถ้าหากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ หลายๆข้อ และเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็น  “โรคซึมเศร้า”

โรคซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใด ๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม, ทางสภาพจิตใจ, ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย

  1. โรคซึมเศร้าเกิดจากความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์
  2. สภาพทางจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้า เช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเอง มองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น
  3. การเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย เช่น หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้
อาการของโรคซึมเศร้า
  • โรคซึมเศร้ามีอาการรู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ
  • ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต
  • น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
  • คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะรู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง
  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
  • กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใด ๆ
  • คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย

ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็น  “โรคซึมเศร้า” หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติของท่าน ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นกันทุกคน

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนอง ต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว ในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้คุณเหมือนมี “ภูมิคุ้มกัน” สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะย่างกรายเข้ามาได้ดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคซึมเศร้า ไม่จำเป็นต้องมานอนรักษาในโรงพยาบาล แต่อย่างไร เมื่ออาการของโรครุนแรง จนอาจมีอันตรายจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้า แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆเท่านั้น

  1. การรักษาทางจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

มีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการ ”พูดคุย” กับจิตแพทย์ 10 ถึง 20 ครั้ง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยการเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ การรักษาทางพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของเขา และพบวิธีที่จะหยุดพฤติกรรมที่ อาจนำไปสู่ความซึมเศร้าด้วย

  1. รักษาโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ยา

ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินก่อนที่จะรับยารักษาโรคซึมเศร้า  ยาจะออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้ง่วงหลับ จะได้ไม่ต้องคิดมากเช่นที่คนมักเข้าใจผิดกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักต้องการหยุดกินยาเร็วกว่าที่ควรเป็น ข้อสำคัญและพึงปฏิบัติที่สุดก็คือ การกินยาอย่างต่อเนื่อง 9 เดือนเป็นต้นไปหรือจนกว่าแพทย์จะบอกให้หยุด ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตามยาบางตัวต้องค่อย ๆ ลดขนาดลง เพื่อให้โอกาสร่างกายปรับตัว ไม่ต้องกังวลว่ายารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่กินแล้วติดหยุดยาไม่ได้  อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่น ๆ  แพทย์อาจให้ตรวจวัดระดับยาให้ถูกต้องกับอาการเป็นระยะ ๆ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ การซื้อยากินเองจากร้านขายยา ยืมยาจากเพื่อน หรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของตนเองก่อน

หากสนใจประเมินภาวะซึมเศร้า สามารถไปที่ลิงค์
https://www.rama.mahidol.ac.th/th/depression_risk

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *